เมื่อคนแก่ครองโลก โดย สินธุชา มาธวรรย์

เมื่อคนแก่ครองโลก โดย สินธุชา มาธวรรย์



เมื่อคนแก่ครองโลก



“พวกคุณเตรียมตัวแก่กันหรือยังครับ” ผมเคยถามคนใกล้แก่แถวบ้าน

“กำลังรอให้แก่อยู่นี่แหละ อยากให้รัฐเลี้ยงเดือนละหกร้อยบาท”

“มันจะพอหรือครับ”

“ไม่รู้สิ ไม่พอก็ขอลูกหลานมันกิน”

“แล้วถ้าลูกหลานเลี้ยงไม่ไหวล่ะ ไม่มาไถเงินก็น่าจะดีใจแล้วนะครับ”

“ไม่รู้ล่ะ ตามธรรมเนียมแล้วมันต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย”

บทสนทนาที่ยกมาข้างบนนี้คือตัวอย่างของแนวความคิดที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งถ้าไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ก็อาจพบกับความยากลำบากในบั้นปลายชีวิตก็เป็นได้


จากข้อมูลทางสังคมวิทยาและการแพทย์ระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 2485 อังกฤษ 2472 ญี่ปุ่น 2513 เกาหลีใต้ 2543 และไทย 2548 (อ้างอิงจาก korea institute for health and social affairs, 2012) โดยที่ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 565 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8 จากประชากรโลกทั้งหมด 7 พันล้านคน

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 6 ล้าน 4 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 9 ล้าน 9 แสนคน และภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2568 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้าน 1 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งจะกลายเป็น”สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) จากนั้นในพ.ศ 2575 ก็จะพัฒนาเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ซึ่งจะมีคนชราอายุ 65 ปีมากถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และประชากรครึ่งหนึ่งจะอายุมากกว่า 43 ปี


“แล้วไง” หลายคนอาจสงสัย

“หมายความว่าเมื่อมองไปทางไหนแทนที่จะเจอสาว ๆ หนุ่ม ๆ วัยทำงานให้กระชุ่มกระชวย ก็จะเห็นคนสูงอายุเยอะขึ้นไงครับ เพราะในแต่ละปีมีคนอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้าน 1 แสน 9 หมื่นคน ในขณะที่มีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละ 7 แสน 7 หมื่นคน คนสูงอายุกำลังจะเต็มประเทศไทยแล้วรู้ไหม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประเทศไทยในอนาคตจะขาดแคลนแรงงาน เศรษฐกิจก็จะเติบโตช้าลง มิหนำซ้ำรัฐยังต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อดูแลคนสูงวัยอีกด้วย”

“ช่วยไม่ได้นี่ เกิด แก่ เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์”

ใช่ ถูกต้อง เกิดมาแล้วเผลอแพล็บเดียวก็แก่เลย ยกตัวอย่างเช่นภรรยาหรือสามีของใครหลาย ๆ คน รวมถึงภรรยาของผู้เขียนเองด้วย แต่งงานกันได้ไม่นานก็แก่แล้ว (ฮา – ได้นินทาลับหลังสักหน่อยก็ยังดี)


ปัญหาของคนอายุยืนก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพ สามารถทำโน่นทำนี่ได้ด้วยตนเอง แก่แล้วไม่เป็นภาระของคนที่บ้านหรือสังคม แต่เป็นเพราะผู้คนสมัยนี้ไม่ค่อยจะได้ออกกำลังกายกันสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีเครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งคนในเมืองใหญ่ยิ่งมีแนวโน้มว่า ในแต่ละวันใช้เวลาหมดไปกับการนั่งมากกว่ายืนหรือเดินเสียอีก ผลคือเมื่ออายุมากเข้าหน่อยก็เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยมากมักจะเป็นโรคยอดนิยมหรือโรคประจำศตวรรษ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ สมองเสื่อม โรคซึมเศร้า ฯลฯ

โรคที่ว่ามานี้แหละครับได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติในยุคที่คนชรากำลังจะครองโลกหรือครองเมืองอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เนื่องจากรัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อดูแลรักษาคนป่วยเหล่านี้ ประมาณการกันว่าคนป่วยหนึ่งคนต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยคนละ 1 ล้าน 5 แสนบาทเลยทีเดียว
 

ปัญหาที่หนักไม่แพ้กันก็คือการขาดแคลนผู้ดูแลคนไข้วัยชรา ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่ ด้วยเหตุที่ประชากรหนุ่มสาวมีจำนวนลดลงและยังต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในบ้าน คนชราจำนวนมากจะไม่มีลูกหลานดูแล เพราะที่ผ่านมานิยมมีบุตรหลานน้อยลง บุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญการดูแลคนชราก็ไม่เพียงพอ บางประเทศถึงกับมองหาทางออกด้วยการคิดค้นและพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งก็ยังถือว่ามีต้นทุนสูง ราคาแพง และเป็นเรื่องห่างไกลเกินไปสำหรับประเทศไทย วิธีที่ง่ายกว่าก็คือการทำอย่างไรก็ได้ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าจะต้องพึ่งก็ขอพึ่งให้น้อยที่สุด


“อย่าไปคิดมากเลย แก่แล้วก็ปล่อยให้แก่ไปเถอะ ไม่นานก็ตายเองแหละ ดีเสียอีกจะได้หาเมียหรือผัวใหม่ เลือกเอาชนิดกำลังกิน ห่าม ๆ หน่อย สุกเละเป็นปลาร้าไม่เอานะ”

“ปัดโธ่ นี่เรากำลังคุยกันเรื่องจริงจังนะครับ ไม่ได้กำลังเลือกซื้อทุเรียน อีกอย่างผู้สูงวัยต้องถือว่าเป็นประชากรที่มีบุญคุณกับประชากรรุ่นหลังด้วย เพราะเคยเหนื่อยยากมาก่อน เคยเป็นผู้ทำงานพัฒนาประเทศ เสียภาษี รวมถึงเลี้ยงดูประชาวัยเด็กให้เติบโตขึ้นมา จึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะต้องช่วยเหลือคนชราให้มีคุณภาพชีวิตเหมาะสม จะปล่อยปะละเลยไม่ได้”

“แล้วจะให้ทำยังไง”

ปัญหาเหล่านี้ได้มีการพูดคุยในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องว่า รัฐต้องให้ความรู้แก่คนหนุ่มสาววัยทำงาน คนใกล้จะถึงวัยชรา รวมถึงคนชรา ในการดูแลตนเองและคนชราในบ้านไม่ให้เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือถ้าเป็นแล้วก็ต้องควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ นอกจากนี้ประชาชนต้องเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐเร่งสร้างสถานพยาบาลให้เพียงพอสำหรับคนชราจำนวนมากในอนาคตที่จำเป็นต้องอยู่ตามลำพัง เพราะไม่มีญาติหรือไม่มีลูกหลานดูแล หากไม่เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

และในระยะยาวรัฐต้องส่งเสริมให้ประชากร โดยเฉพาะผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยชราและคนชราเอง ได้มีโอกาสออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามกีฬา ศูนย์ออกกำลังกาย แต่วิธีที่ประหยัดกว่าก็คือ รณรงค์ส่งเสริมให้ใช้จักรยานเป็นพาหนะมากขึ้น เพราะเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะแก่ทุกเพศทุกวัย ซึ่งการได้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอนี้ จะสามารถชลอความชราออกไปได้ สมองไม่เสื่อมเร็ว (หนึ่งในโรคของคนอายุยืน) หรือแม้เมื่อชราแล้วก็ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้ เข้าสังคมกับมิตรสหายได้ เป็นคนชราที่ไม่ “ติดบ้าน” หรือ “ติดเตียง” ติดบ้านก็คือร่างกายอ่อนแอ เดินเหินไม่ค่อยไหว ลุกขึ้นหรือเดินหน่อยก็วิงเวียนพาลจะเป็นลม ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน นานวันเข้าสภาพร่างกายก็ยิ่งแย่ลง ผลสุดท้ายก็กลายเป็นคนสูงอายุประเภทติดเตียง หมายถึง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียง นอนรอวันตายอย่างเดียว


สรุปสั้น ๆ ว่า อนาคตของผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานหรือเป็นอุดมคติก็คือ มีงานที่เหมาะสมทำตลอดชีวิต มีเงินออมหรือเงินบำนาญเพียงต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลกันและกันในกลุ่มหรือคู่ครองได้ เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตลอดเวลา ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ถ้ามีโรคประจำตัวก็สามารถดูแลไม่ให้กำเริบ ต้องออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อกระตุ้นร่างกายให้แข็งแรงสดชื่นกระปรี้กระเปร่า พร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ของตนและคู่ชีวิต เนื่องจากไม่อาจพึ่งพาลูกหลานได้เหมือนสมัยก่อน ที่สัดส่วนประชากรวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันนี้


แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ เตรียมพร้อมรับมือกับวัยชราอย่างมีคุณภาพหรือยัง





ความคิดเห็น